สอนอย่างไรให้สนุก เรียนกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ
การสอนแบบไร้การโต้ตอบ ไร้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การสอนแบบนี้อาจไม่เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว หากทำการสอนแบบเดิมต่อไปเรื่อย ๆ ผู้เรียนอาจจะรู้สึกเบื่อหน่ายต่อเนื้อหา และหมดสนุกต่อการเรียนในที่สุด ทั้ง ๆ ที่บางบทเรียนเป็นหัวข้อที่เป็นประโยชน์และสามารถนำไปต่อยอดในอนาคตได้
ไม่เพียงแต่บทเรียนที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกหมดสนุก แต่การสอนที่ไม่เป็นระบบ หรืออธิบายไม่เข้าใจ ผู้เรียนก็อาจจะไม่สามารถเห็นภาพถึงการนำไปใช้งานในชีวิตจริงได้ การสอนลักษณะนี้ก็ทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่าย จนเลิกโฟกัสการเรียนที่อยู่ตรงหน้า รวมถึงบรรยากาศในการเรียนที่ไม่มีความสนุกสนานเองด้วย ปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการเรียน
แล้วผู้สอนควรทำอย่างไร อยากใส่เนื้อหาสาระให้เต็มที่ แต่ก็กลัวผู้เรียนจะหมดสนุกไปซะก่อน ต้องบอกเลยว่าในเรื่องของการสอน ถ้าวางแผนไม่ดี การสอนก็จะหมดสนุกหลุดโฟกัสเอาง่าย ๆ ทำให้ผู้เรียนเรียนไม่รู้เรื่องจนเป็นการสอนที่ไม่เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ บทความนี้ DIGITORY Space จะมาแชร์ประสบการณ์สอนแบบฉบับเข้าใจง่าย ใช้ได้กับทุกเนื้อหาวิชา เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในห้องเรียนที่เราต้องการส่งต่อไปให้กับผู้เรียนได้
1. ออกแบบแผนการสอนให้ผู้เรียนรู้สึกสนุก
แผนการสอนก็เหมือนกับแผนการทำงาน การวางแผนที่ดีก็ยิ่งทำให้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนตามไปด้วย แผนการสอนจึงเป็นแนวทางให้กับผู้สอนได้เป็นอย่างดีว่ากระบวนการสอนต้องทำอย่างไรต่อไป บทเรียนใดควรใส่ สิ่งใดควรตัด กรอบเวลาในการสอนมีเท่าไหร่ สร้างบทเรียนอย่างไรให้ลื่นไหล สิ่งใดที่เป็นแกนหลักของเนื้อหา
ปัจจัยหลัก ๆ ของการวางแผนการสอนนอกจากบทเรียนแล้ว เวลาก็เป็นสิ่งสำคัญ เวลาที่น้อยเกินไปทำให้องค์ความรู้ในการเรียนการสอนไม่ครบ ในทางกลับกันเวลาสอนที่มากเกินไปก็ทำให้เนื้อหาอัดแน่นจนผู้เรียนรับไม่ไหวได้ DIGITORY Space ของเราก็ได้มีการออกแบบแผนการสอนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมโดยการใช้การสอนแบบ 5E Model เข้ามาช่วยนั่นเอง
2. นำเทคนิคการเล่าเรื่องเข้ามาช่วยสอน
แน่นอนว่าคนที่เล่าเรื่องเก่งมีภาษีดีกว่าคนที่เล่าเรื่องไม่เก่ง สำหรับการสอนคำพูดเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่การถ่ายถอดได้ง่ายที่สุด และถ้าสามารถอธิบายให้เห็นภาพได้ด้วย ก็จะยิ่งช่วยทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาในบทเรียนมากยิ่งขึ้น
ลองนึกถึงตอนที่เราดูหนังหรือซีรี่ย์ ทำไมเราถึงจำเรื่องราวของหนังเมื่อคืนได้ และวันถัดมาก็สามารถเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังได้เป็นฉาก ๆ แน่นอนว่าหนังหรือละครใช้เทคนิคการเล่าเรื่องหรือที่เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า Storytelling คือเทคนิคการเล่าเรื่องแบบให้เห็นภาพ ผู้สอนอย่างเราก็สามารถใช้เทคนิคนี้เข้ามาช่วยสอนให้ผู้เรียนรู้สึกอินและสนุกไปกับเนื้อหาบทเรียนได้
3. ตั้งคำถามให้มากกว่าการใส่เนื้อหา
การตั้งคำถามในที่นี้คือการที่ให้ผู้เรียนตั้งคำถามกับเนื้อหาวิชา ข้อสงสัยต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนมีอิสระทางความคิดและการเรียน โดยประโยชน์ของการตั้งคำถามจากผู้เรียนจะยิ่งทำให้เนื้อหาวิชาที่สอนเกิดความน่าสนใจมากขึ้น เพราะเป็นการมองบทเรียนในหลาย ๆ แง่มุม และยังให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือเกิดการค้นพบเรื่องใหม่ ๆ ในเบทเรียนนั้นได้เช่นกัน
สำหรับ DIGITORY Space เองก็มีการใช้เทคนิคนนี้ในการสอนอยู่บ่อย ๆ ประการแรกคือเราจะได้ทราบว่าผู้เรียนยังอยู่กับเนื้อหาที่เราสอนหรือไม่ ประการที่สองคือบางคำถามก็เป็นคำถามที่ย้อนกลับมาที่ตัวผู้สอนเองเหมือนกัน ทำให้ต้องทำการค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อตอบคำถามนั้น ๆ ให้ถูกต้องและดีที่สุดนั่นเอง
4. ใช้การ Coaching มากกว่าการ Teaching
ต้องยอมรับอย่างนึงว่าการสอนในปัจจุบันหมดยุคการสอนอย่างเดียวแล้ว มาถึงตรงนี้ผู้อ่านคงสงสัยว่าถ้าไม่ให้สอนอย่างเดียวจะให้ทำอะไร เราแนะนำให้ลองสอนควบคู่กับการนำทางกับผู้เรียนดู โดยใช้การสอนแบบ Coaching เข้ามาช่วย แบบที่เราไม่ต้องบอกคำตอบทั้งหมดให้กับผู้เรียน แต่มอบเทคนิคองค์ความรู้ให้กับผู้เรียน พร้อมกับตั้งคำถามกลับให้ผู้เรียนหาคำตอบด้วยเอง หรือมอบมุมมองและประสบการณ์ของเราให้กับผู้เรียนได้แบบง่าย ๆ การสอนแบบนี้จะช่วยให้ผู้เรียนใช้ความคิดของตนเองหาคำตอบและแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ดียิ่งขึ้น มากกว่าการท่องจำแล้วนำไปตอบนั่นเอง
5. เพิ่มความคิดนอกกรอบ
การสอนที่ดีช่วยให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์และปลดล็อกทักษะการคิดนอกกรอบ หลาย ๆ ครั้งที่เด็กไทยไม่กล้าคิด ไม่กล้าลงมือทำ เพราะติดกับดักที่ว่าคนอื่นไม่คิด ไม่ทำกัน ความคิดเหล่านี้เป็นตัวที่ฉุดรั้งให้ผู้เรียนไม่กล้าตัดสินใจลงมือทำในที่สุด ที่สำคัญผู้สอนอย่างเราควรเคารพความคิดของผู้เรียน ไม่ว่าความคิดนั้นจะบ้าดีเดือดสักแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าความคิดนั้นเป็นความคิดที่ไม่ผิดแล้วละก็ ผู้สอนก็ควรที่จะเคารพและสนับสนุนความคิดเหล่านั้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้เรียนมากยิ่งขึ้น
หลายครั้งที่ผู้เรียนไม่กล้าถาม ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความคิดของผู้เรียนที่ไม่มีใครสนับสนุนหรือถูกทำให้ปล่อยผ่านไป การรับฟัง สนับสนุน และเคารพในความคิดนั้น ๆ จะช่วยผลักดันให้ผู้เรียนเกิดศักยภาพในตนเองมากขึ้น
6. รู้จักผู้เรียนให้เหมือนกับโค้ชรู้จักนักเตะในทีมฟุตบอล
ทีมฟุตบอลมีทั้งตำแหน่งผู้รักษาประตู ศูนย์หน้า กองกลาง กองหลัง นักฟุตบอลแต่ละคนมีหน้าที่ของตนเอง เคยสงสัยไหมว่าทำไมโค้ชถึงเลือกที่จะส่งนักเตะคนนี้ลงสนาม ทำไมโค้ชถึงไม่ส่งนักเตะคนนี้แทน คำตอบก็คือโค้ชรู้จักนักเตะของตัวเองมากกว่าคนดูอย่างเรา ๆ การที่โค้ชเลือกนักเตะลงสนามนั่นหมายถึงโค้ชต้องการให้ให้นักเตะคนนั้น ๆ ได้ใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่เพื่อใช้พลิกสถานการณ์ หรือช่วยทีมให้ได้ประตู
การเรียนก็เช่นกัน ผู้เรียนทุกคนมีศักยภาพและจุดประสงค์ในการเรียนแตกต่างกัน คำถามคือแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้เรียนแต่ละคนต้องการอะไรจากการสอนนี้ หรือสนใจความรู้ด้านใด คำตอบนั่นง่ายมาก
วิธีแรกเพียงแค่เข้าไปพูดคุยกับผู้เรียนให้มากขึ้นจะแบบสนทนาแบบตัวต่อตัว หรือจะสนทนาแบบกลุ่มเพื่อฟังความเห็นหรือกระบวนการคิด ก็สามารถทำได้
วิธีที่สองทำความรู้จักผู้เรียนให้มากขึ้นผ่านการทำ Assignment หรือ งานที่ได้รับมอบหมาย โดยให้ผู้เรียนนำเสนอแนวคิดออกมา
สองสิ่งนี้สามารถทำให้เราวิเคราะห์ผู้เรียนได้ว่าผู้เรียนของเราแต่ละคนถนัดอะไร แนวไหน ต้องเน้น หรือฝึกฝนเรื่องใดเป็นพิเศษ ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้พบกับนักฟุตบอลที่เก่งกาจในห้องเรียน ที่แม้แต่ตัวผู้เรียนก็ไม่รู้เช่นกันว่าเขาเหล่านั้นมีทักษะบางอย่างที่พิเศษแอบซ่อนอยู่ ผู้สอนอย่างเราเพียงต้องคอยช่วยดึงศักยภาพของเค้าออกมาใช้งานให้ได้อย่างเต็มที่เท่านั้น
สรุป
การสอนอย่างไรให้สนุก ไม่มีทฤษฎีตายตัวว่าทำแบบนั้นหรือแบบนี้แล้วการเรียนจะสนุกสนานมากขึ้น เป็นเพียงทฤษฎีที่ใช้ในการอ้างอิงหรือจัดกรอบกระบวนการสอนให้ผู้สอนได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับ DIGITORY Space เราสอนแบบยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางให้มากที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราต้องการคือผู้เรียนต้องได้รับประโยนชน์จากสิ่งที่เราสอนไป เราจึงพัฒนารูปแบบการสอนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างเต็มที่ สนุกสนานในบทเรียนนั้น ๆ ให้ได้มากที่สุดในแบบของเรา