Resilience ล้ม ลุก เดินหน้าต่อ สำคัญต่อการทำงานอย่างไร
เพื่อน ๆ เคยผิดหวัง ท้อแท้จากเรื่องอะไรกันบ้างคะ ? สัมภาษณ์งานไม่ผ่าน โปรเจกต์โดนพัก ขายงานลูกค้าไม่ได้ หรือแพ้เกมที่เราทำเต็มที่แล้ว ในช่วงเวลาเมื่อเจอปัญหาเหล่านี้ เพื่อน ๆ เคยเช็กตัวเองกันไหมว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง ท้อ เหนื่อย ยอมแพ้ หนีปัญหา หรือปล่อยวาง อารมณ์ที่มาพร้อมความผิดหวังเหล่านี้ เพื่อน ๆ จัดการอย่างไรให้ตัวเองก้าวข้ามอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามา
Resilience ล้ม ลุก เดินหน้าต่อ คำสั้น ๆ แต่แฝงความหมายไว้มากมายให้กับชาวมนุษย์ทำงานที่เจอปัญหาและอุปสรรคนานับประการ ให้รู้จักกับความยืดหยุ่น ปรับตัว และเติบโต แล้วเจ้า Resilience คืออะไร แบบใดคือ Resilience วันนี้ DIGITORY Space จะเล่าให้ฟัง
Resilience Mindset คืออะไร
Resilience หากแปลตามความหมายของภาษาอังกฤษหมายถึง การกลับสู่ปกติหลังจากผ่านเรื่องราวที่ยากลำบาก
Resilience Mindset จึงหมายถึง การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งเราจะต้องพบเจอตลอดในหลากหลายช่วงชีวิต อย่างชื่อบทความของเรา “Resilience ล้ม ลุก เดินหน้าต่อ” เป็นความหมาย เพื่อให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับปัญหา อยู่ร่วมกับมัน และก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้! รวมถึงเดินหน้าต่อด้วยการฟื้นตัวจากความเจ็บปวด ความพ่ายแพ้ ความเครียด ที่ผ่านมา
คนที่มี Resilience Mindset เป็นอย่างไร
คนที่มี Resilience Mindset คือคนที่มองปัญหาและอุปสรรคเป็นเรื่องท้าทาย ตื่นเต้น และต้องการเรียนรู้ไปกับมัน แม้จะเป็นช่วงเวลาที่เขาผิดพลาด ล้มเหลว แต่เขาเหล่านั้นจะกลับมานั่งคิดทบทวนตัวเองว่าสิ่งที่เขาพลาดไปนั้นคืออะไร ส่วนไหนที่ทำให้เขาล้มเหลว
ยกตัวอย่างเช่น นักกีฬาวอลเล่ย์บอลคนหนึ่งที่ถนัดแต่เทคนิคการลูกตบเร็วเพื่อทำแต้มอย่างเดียว วันหนึ่งเขาเกิดไปเจอคู่แข่งที่สามารถรับและบล็อกลูกตบของเขาได้ทั้งหมด จนทำให้เขาทำแต้มได้น้อยกว่าปกติ แน่นอนว่านักกีฬาคนนั้นรู้สึกเสียใจ ท้อแท้ แต่เขาได้กลับมานั่งทบทวนตัวเองว่าเขาจะแก้ไขอย่างไรดี หรือสามารถพัฒนาตนเองอย่างไรได้บ้าง เพื่อทำแต้มให้กับทีมวอลเล่ย์บอลของเขาได้มากยิ่งขึ้น
สิ่งที่เขาเรียนรู้จากความเจ็บปวดนี้ คือ เขาต้องพัฒนาทักษะการเล่นวอลเล่ย์บอลรูปแบบอื่น ๆ นอกจากลูกตบ เพราะการทำแต้มจากกีฬาชนิดนี้ไม่ได้มีแต่การตบลูกเสียหน่อย เขาจึงฝึกฝนการอ่านทางบอลจากคู่แข่ง การรับลูก การบล็อกและเทคนิคอื่น ๆ เพื่อพัฒนาตนเอง และป้องกันสถานการณ์ในการแข่งขันข้างหน้าที่อาจเกิดขึ้น
เราได้ยกตัวอย่างในเรื่องของกีฬาเพื่ออธิบายได้เห็นภาพความหมายของ Resilience Mindset โดยไม่ว่าจะทำอาชีพ ตำแหน่ง หรือหน้าที่อะไร ก็สามารถนำความคิดแบบ Resilience ไปปรับใช้กับตัวเองได้เสมอนั่นเอง
คนที่ไม่มี Resilience Mindset เป็นอย่างไร
ถ้านักกีฬาวอลเล่ย์บอลคนนั้นไม่มี Resilience Mindset
เมื่อเขาเจอคู่แข่งที่มีความสามารถมากกว่าเขา เขาก็จะคิดว่า อ่อ นั่นคงเป็นความเก่งกาจและพรสรรค์ของคู่แข่งคนนั้นซินะ คนอย่างเขาไม่มีทางเอาชนะสิ่ง ๆ นั้นได้หรอก เพราะทุกอย่างมันถูกกำหนดไว้แล้ว
ตัวอย่างข้างต้นเป็นความคิดที่มีกรอบควาามคิดแบบเดิม สิ่งที่เขาจะพบเจอต่อไปในภายภาคหน้าคือเขาจะยิ่งเจอคู่แข่งที่เก่งขึ้น ๆ ไปเรื่อย ๆ ถ้านักกีฬาคนนั้นไม่พัฒนาฝีมือ ก็จะตามทักษะของคู่แข่งไม่ทันจนเกิดเป็นความพ่ายแพ้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็เป็นได้
ถ้าหากเพื่อน ๆ เป็นนักกีฬาคนนั้น เพื่อน ๆ จะเลือกแบบใด เลือกปรับความคิดแบบมีความยืดหยุ่นและปรับตัว หรือเลือกที่จะเพิกเฉยและปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินต่อไปโดยไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลง
หากเรื่องที่จะยืดหยุ่นกับตัวเอง และลองปรับตัว เพื่อเปลี่ยนแปลงแล้ว ขั้นต่อไปเรามาดูการสร้าง Resilience Mindset แบบง่ายที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้กันได้ ดังนี้
วิธีสร้าง Resilient Mindset ด้วยตนเอง
1.รู้จักตนเองให้มากขึ้น
รู้จักและตรวจสอบตนเองก่อนว่าตนมีความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และความเครียดอย่างไร เมื่อเจอปัญหาและอุปสรรคนั้น ๆ สิ่งนี้จะทำให้เรารู้จักกับจุดแข็ง-จุดอ่อนของตนเอง เพื่อให้เราได้ปรับตัว ฝึกฝนควบคุมอารมณ์ความรู้สึกนั้น ๆ ได้
เช่น เมื่อสังเกตตัวเองแล้วพบว่า ทุกครั้งที่เจอกับปัญหา จะเกิดอาการลุกลี้ลุกลน ไม่มีสติอยู่กับตัว อาจแก้ไขด้วยการฝึกสมาธิโดยการหายใจเข้าออกลึก ๆ เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อตั้งรับปัญหาที่เผชิญอยู่นั่นเอง
2. มีความคิดที่ยืดหยุ่นอยู่เสมอ
คนที่มี Resilience Mindset เมื่อพบเจอกับกระบวนการทำงานไม่ได้ผล สิ่งที่ควรทำต่อไป คือ หากระบวนการที่สอง ที่สาม ที่สี่ รองรับเอาไว้ หรือทดลองกระบวนการใหม่ที่ไม่เคยทำ เพื่อค้นพบเส้นทางไปสู่ความสำเร็จ
3. สร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้คนรอบข้าง
หลายครั้งเมื่อเราเจอปัญหาหรืออุปสรรคเราอาจเกิดความเครียดไม่รู้ตัว การออกไปพบปะผู้คน พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นการลดความเครียดที่สะสมไปในตัว การออกไปเจอสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ เจอผู้คนที่เราไม่ได้พบเมื่อนานมาแล้ว สามารถช่วยลดความเครียดของตัวเราลงได้ พร้อมกันยังช่วยปรับสภาพจิตใจของเราให้พร้อมเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง
4. รู้จักควบคุมอารมณ์
ผิดพลาด ผิดหวัง ท้อแท้ หลากหลายปัญหาที่พบเจออาจทำให้อารมณ์ของตัวเรานั้นทุกข์ เศร้า เสียใจ การควบคุมอารมณ์ตัวเองด้วยการสงบสติและอารมณ์จะทำให้เราเติบโตขึ้นได้ แน่นอนว่าบางครั้งอารมณ์ของเราไม่สามารถปรับให้หายขาดจากความเจ็บปวดได้ 100% แต่การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และฝึกควบคุมอารมณ์ของตนเองจะทำเรามีสติยอมรับความผิดหวัง ความท้อแท้ เพื่อลุกขึ้นเดินหน้าต่อได้อีกครั้ง
5. ก้าวทีละก้าวอย่างมั่นคง
สัมภาษณ์งานไม่ผ่าน โปรเจกต์ไม่ประสบผลสำเร็จ สอบไม่ติด หลากหลายอุปสรรคที่เรากำลังเผชิญอยู่ หลายคนเมื่อเจอความล้มเหลวต้องการที่จะลุกเลย สู้เลย แต่ลืมคิดทบทวนตัวเองว่าทำไมถึงผิดพลาด ลืมหาสาเหตุที่แท้จริงว่าครั้งที่แล้วเราถึงล้มพลาดไปจุดใด
ดังนั้น หลังจากที่ล้มแล้วอย่ารีบร้อนออกวิ่งโดยทันที ค่อย ๆ เรียนรู้ หาสาเหตุ ปรับแก้ไข้ เพื่อให้เราเดินหน้าต่อไปให้มั่นคงยิ่งขึ้น
6. มองโลกให้แง่ดี สร้างพลังบวกเข้าไว้
ความผิดหวัง ความพ่ายแพ้ทำให้เราสร้างพลังลบโดยไม่รู้ตัว หากเราปรับความคิดเสียใหม่มองปัญหาให้เป็นโอกาส มองความล้มเหลวให้เป็นประสบการณ์ มองอดีตให้เป็นบทเรียน พร้อมที่จะยอมรับ เรียนรู้ ยืดหยุ่น และท้าทายกับปัญหาที่พบเจออยู่เสมอ เมื่อปรับความคิดให้พลังลบลดลง แทรกแทนที่ด้วยพลังบวกที่มากขึ้น ร่างกายและจิตใจของเราจะรับรู้ได้ ถึงแรงที่จะขับเคลื่อนตัวเองในวันต่อ ๆ ไป
7. ตั้งเป้าหมาย
“เพราะเป้าหมายมีไว้พุ่งชน” สโลแกนของแบรนด์ดังที่นำมาใช้ได้อยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะผิดพลาดอีกกี่ครั้ง แต่อย่าลืมจุดประสงค์ที่เราจะลุกและเดินต่อไป เป้าหมายให้ความรู้สึกคล้ายกับ GPS ที่จะปักหมุดการเดินทางครั้งนี้ว่าไปสิ้นสุดตรงไหน ให้เรามีจุดหมายในการเดินทางอย่างมีความหวังนั่นเอง
ในทุกเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การทำงาน การใช้ชีวิต การตั้งเป้าเอาไว้เป็นการท้าทาย ช่วยให้เราพัฒนาตนเอง และยังทำให้ชีวิตของเรามีความหมายได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
8. ขัดเกลาและฝึกฝน
จากหลากหลายข้อที่กล่าวไปข้างต้นล้วนสร้างแรงใจและเป็น Soft Skill ชั้นดีให้กับตัวเราเองได้ ทั้งนี้เราก็ต้องไม่ลืมฝั่ง Hard Skill กันด้วยว่าจุดไหนที่เรายังไม่แข็งแรง จุดใดที่เราต้องการพัฒนาต่อไป หรืออะไรที่เราต้องเรียนรู้เพิ่ม
ตัวอย่างเช่น นาย A สัมภาษณ์งานไม่ผ่านเพราะขาด Hard Skill ด้านโปรแกรม Excel สิ่งที่นาย A ต้องกลับมาทบทวนเลยคือ เครื่องมือไหนใน Excel ที่สายงานนั้นใช้งาน เมื่อนาย A รู้แบบนี้แล้วก็หมั่นฝึกฝนใช้เพิ่มขึ้น และนำไปแก้ตัวกับการสัมภาษณ์งานในครั้งหน้าได้นั่นเอง
และนี่ก็เป็น Resilience Mindset ทั้งหมดที่เราเอามาฝากทุกคนกัน อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว Resilience ก็ให้ความรู้สึกเหมือนเกมเลยนะคะ มีแพ้ มีชนะ มีการอัปเลเวลขึ้นเพื่อต่อสู้กับอะไรบางอย่างที่แข็งแกร่งกว่าเรา ในการทำงานก็เช่นเดียวกันค่ะ เพราะทุกคนต้องการเติบโต มีเงินเดือนที่สูงขึ้น มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ก็ต้องแลกมากับพยายาม ความผิดหวัง ความผิดพลาด และการผ่าฟันเพื่อเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นไปให้ได้นั่นเอง
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับเพื่อน ๆ ทุกคนนะคะ DIGITORY Space ขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อน ๆ ทุกคนที่กำลังเผชิญปัญหาและอุปสรรคที่เข้ามาในชีวิต และขอให้ทุกคนมี Resilience Mindset ที่ดีกับตนเอง ล้มลุกและเดินหน้าต่อไปในชีวิตอย่างมั่นคงกัน!